พิธีแต่งงานในประเทศไทยมีหลากหลายเลยนะคะ นอกจากจะมีพิธีการแต่งงานแบบไทยแล้ว ยังแยกออกเป็น พิธีการแต่งงานแบบล้านนา ซึ่งเป็นพิธีของทางภาคเหนือด้วย บ่าวสาวชาวเหนือคู่ไหนกำลังจะจัดงานแต่งงาน แต่ไม่รู้ว่ามีขั้นตอนอะไรยังไงบ้าง วันนี้เราก็นำขั้นตอน พิธีการแต่งงานแบบล้านนา มาฝากกันแล้วจ้า
ขอเขย
ตอนเช้าในวันแต่งงาน ก่อนจะเริ่มพิธีการแห่ขันหมาก ฝ่ายเจ้าสาวจะไปบ้านเจ้าบ่าวเพื่อทำการขอเจ้าบ่าว หรือเรียกว่าการขอเขยค่ะ ในการไปขอเจ้าบ่าวจะต้องมีพานดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะเตรียมขันข้าวตอกและขันหมากเอาไว้ต้อนรับผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวที่มาขอเขย เมื่อเสร็จแล้วฝ่ายเจ้าสาวก็จะเชิญให้ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขบวนขันหมากมายังบ้านเจ้าสาวตามฤกษ์ที่กำหนดจ้ะ
แห่ขันหมาก
เมื่อถึงฤกษ์ที่กำหนดเอาไว้ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำการแห่ขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว โดยการแห่ขันหมากแบบล้านนาดั้งเดิมจะมีวงปี่กลองและการฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน มีพานดอกไม้มงคลนำหน้าขบวน ตามด้วยบายศรี ขันหมากเอก ขันหมากโทตามแบบประเพณีไทย หีบผ้า หน่อกล้วย และหน่ออ้อย เป็นต้น นอกจากนี้ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องสะพายดาบ เพื่อแสดงถึงความเป็นชายชาตรีด้วย
กั้นประตูเงิน ประตูทอง
พอขบวนขันหมากแห่มาถึงแล้ว จะถึงคราวของการกั้นประตูเงิน ประตูทองค่ะ โดยเจ้าบ่าวจะต้องผ่านประตูเหล่านี้ไปให้ได้เพื่อไปพบกับเจ้าสาวที่รออยู่นั่นเอง ซึ่งในอดีตประตูสุดท้ายจะมีการล้างเท้าให้เจ้าบ่าวโดยเด็กๆ จากฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นก็จะเชิญเจ้าบ่าวขึ้นเรือนค่ะ
บายศรีสู่ขวัญ
เมื่อเจ้าบ่าวผ่านประตูเงิน ประตูทองเข้ามาได้แล้วก็จะเริ่มพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยพิธีนี้เป็นพิธีการมงคลที่มีขึ้นตามความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาพร้อมขวัญที่คอยดูแลรักษา ติดตามเจ้าของให้สุขกายสบายใจเป็นปกติ ซึ่งพิธีบายศรีสู่ขวัญนี้ ชาวไทยเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่จะช่วยส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็งนั่นเอง ในส่วนของภาคเหนือจะให้ปู่อาจารย์หรือผู้ประกอบพิธีเป็นผู้เรียกขวัญจ้ะ
เจ้าสาวจะนั่งด้านซ้ายและเจ้าบ่าวนั่งด้านขวา โดยที่มีพานบายศรีอยู่ตรงกลาง ปู่อาจารย์จะทำการเรียกขวัญและปัดเคราะห์เพื่อให้บ่าวสาวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข จากนั้นญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่ฝั่งเจ้าสาวจะเป็นผู้ผูกข้อมือก่อน ตามด้วยญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ของฝั่งเจ้าบ่าว และญาติสนิทมิตรสหาย สุดท้ายแขกผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะใส่ซองให้คู่บ่าวสาว และเมื่อคู่บ่าวสาวให้ของรับไหว้แล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีบายศรีสู่ขวัญ
ส่งตัวเข้าหอ
ตามประเพณีแล้ว ก่อนส่งตัวเจ้าบ่าว เจ้าสาวเข้าห้องหอจะต้องมัดมือของทั้งคู่ให้ติดกันก่อนนะคะ จากนั้นญาติผู้ใหญ่หรือบุคคลที่เคารพนับถือจะเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ โดยที่มีบายศรีนำหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว ซึ่งก็คือสลุงใส่เงินทองที่แขกมอบให้ตอนผูกข้อมือคู่บ่าวสาวนั่นเอง
เมื่อเข้าห้องหอแล้ว พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียวจะนอนให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วคู่บ่าวสาวจะทำตามพอเป็นพิธี จากนั้นจะมีการให้โอวาทในการครองเรือนค่ะ เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการแต่งงานแบบล้านนาแล้วค่ะ
จะเห็นว่า พิธีการแต่งงานแบบล้านนา มีรายละเอียดขั้นตอนที่คล้ายกับพิธีการแต่งงานแบบไทยเลยนะคะ เพียงแค่เพิ่มบางพิธีเข้ามาเท่านั้นเอง ซึ่งคู่บ่าวสาวสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความสะดวกของคู่ตัวเองได้เลยนะคะ และใครที่มีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางมานิตาได้เลยค่า
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก PloenchitHouse