หากว่าคู่ที่บ่าวสาวเลือกจัดงานแต่งงานแบบไทย เรื่องของลำดับ พิธีการแต่งงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีลำดับขั้นตอนที่ไม่เหมือนประเทศไหนๆ ทั้งสวยงามและร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรม แต่แน่นอนว่ามีว่าที่คู่บ่าวสาวมือใหม่จำนวนไม่น้อยที่กำลังกังวลกับพิธีการแต่งงาน กลัวว่าจะมีขั้นตอนเยอะอาจทำผิดทำถูกและไม่ทันกำหนดการ ไม่ต้องเครียดไปค่ะ เพราะวันนี้มานิตามีคำแนะนำลำดับ พิธีการแต่งงาน โดยเฉพาะพิธีแต่งงานแบบไทยๆมาฝากกัน รับรองว่าปฏิบัติตามได้ง่าย นำไปใช้ได้จริงแน่นอนค่ะ
ลำดับพิธีการแต่งงานแบบไทย ประกอบไปด้วย
1. พิธีสงฆ์
พิธีสงฆ์ เป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์และตักบาตรแบบไทยๆ ซึ่งเป็นความเชื่อว่าหากประกอบพิธีนี้เป็นลำดับแรกในงานแต่งงานจะเป็นการเสริมสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ เรียกว่าเป็นการทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน โดยพิธีสงฆ์แบบไทยจะนิยมจัดในช่วงเช้า เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้ว คู่บ่าวสาวก็จะทำการตักบาตรและถวายภัตตาหารร่วมกัน หลังจากนั้นพระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ให้คู่บ่าวสาวและแขกผู้ร่วมงาน เป็นอันเสร็จพิธีทางสงฆ์
2. พิธีแห่ขันหมากและกั้นประตู
พิธีแห่ขันหมาก เป็นลำดับขั้นตอนที่ 2 ของพิธีการแต่งงานแบบไทยๆ และเป็นพิธีที่มีสีสันมากที่สุด โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมตั้งขบวนขันหมากและทำการแห่ขันหมากเพื่อนำพานสินสอดทองหมั้นไปเจรจาสู่ขอเจ้าสาว ซึ่งสีสันของพิธีนี้คือพิธีกั้นประตูที่มีทั้งเพื่อนและญาติฝั่งเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องฝ่าแต่ละประตูด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งพิธีการสำคัญที่ใช้ทดสอบเจ้าบ่าวเลยทีเดียวค่ะ
Credit: Freepik
3. พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการแห่ขันหมากแล้ว ฝั่งเจ้าบ่าวจะนำพานสินสอดทองหมั้นและพานแหวนหมั้น มาเรียงไว้บนโต๊ะด้านหน้าของพิธี โดยมีผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายนั่งอยู่ด้านหลังโต๊ะโดยลำดับการนั่งนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะนั่งอยู่ทางซ้าย ส่วนฝ่ายชายอยู่ทางขวา จากนั้นพิธีกรจะเริ่มพิธีการแต่งงานสำคัญ คือ เถ้าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มการเจรจาสู่ขอผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว และเปิดพานสินสอดเพื่อตรวจนับตามธรรมเนียม หลังจากพิธีการนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ลงบนสินสอดเพื่อความเป็นสิริมงคลให้สินสอดเหล่านี้ออกดอก ออกผลงอกงาม และขั้นตอนสุดท้ายในพิธีการนี้ คือ แม่ของเจ้าสาวจะทำหน้าที่ห่อสินสอดและแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี พร้อมแสดงท่าทางเหมือนห่อสินสอดหนักมาก เพื่อเป็นเคล็ดว่ามีเงินทองมากมาย
Credit: Freepik
4 พิธีรับไหว้ผู้ใหญ่
พิธีรับไหว้ หรือพิธีไหว้ผู้ใหญ่ เป็น พิธีการแต่งงานที่คู่บ่าวสาวจะได้ทำการเสมือนฝากเนื้อฝากตัวกับผู้ใหญ่ทั้งสองบ้าน เริ่มต้นด้วยพิธีกรเชิญลำดับผู้ใหญ่แต่ละท่านขึ้นเวที จากนั้นคู่บ่าวสาวจะก้มลงกราบที่ตักแบบไม่แบมือแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะรับไหว้ด้วยมอบซองเงินหรือของมีค่าให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นทุนในการสร้างครอบครัวฝั่งคู่บ่าวสาวเองก็จะมอบของขวัญเล็กๆน้อยๆให้กับผู้ใหญ่เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณเช่นกัน
Credit: Freepik
5. พิธีสวมแหวนหมั้น
เมื่อจบพิธีการสู่ขอและนับสินสอดเรียบร้อยแล้ว ลำดับถัดไปคือพิธีสวมแหวนหมั้น ซึ่งเป็น พิธีการแต่งงาน ที่สวยงามและน่าประทับใจเพราะเจ้าบ่าวจะบรรจงสวมแหวนหมั้นให้เจ้าสาว และสลับให้เจ้าสาวเป็นฝ่ายสวมแหวนให้เจ้าบ่าวบ้าง ซึ่งพิธีการนี้เน้นภาพความประทับใจ คู่บ่าวสาวต้องไม่รีบร้อน เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่เพอร์เฟ็คที่สุดนะคะ
Credit: Freepik
6. พิธีรดน้ำสังข์
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนพิธีรดน้ำสังข์ พิธีกรจะให้คู่บ่าวสาวมานั่งที่เก้าอี้รดน้ำสังข์เพื่อทำพิธีโดยให้ฝ่ายเจ้าสาวนั่งทางด้านซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ จากนั้นประธานในพิธีจะทำหน้าที่เจิมแป้งที่หน้าผาก คล้องพวงมาลัยและสวมมงคลแฝด ตามด้วยการรดน้ำสังข์เป็นท่านแรก จากนั้นพิธีกรจะเชิญแขกผู้ร่วมงานมาร่วมพิธีการรดน้ำสังข์ ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดลำดับตามแบบไทยๆ โดยเรียงตามลำดับอาวุโสค่ะ
Credit: Freepik
7. พิธีเรียงหมอนส่งตัว
พิธีเรียงหมอนส่งตัว ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับลำดับ พิธีการแต่งงาน แบบไทย คู่บ่าวสาวจะทำพิธีการนี้ภายหลังจากเสร็จพิธีการรับไหว้เลยก็ได้ หรือจะทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจบงานเลี้ยงมงคลสมรสก็ได้เช่นกัน ซึ่งพิธีการดังกล่าวนี้ เริ่มต้นด้วยเจ้าบ่าวจะรอที่ห้องส่งตัวก่อนแล้ว จากนั้นผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวเข้ามา และผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันทำพิธีปูที่นอนเรียงหมอนเพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ จากนั้นแม่ของเจ้าสาวก็จะส่งเจ้าสาวให้เจ้าบ่าวพร้อมกล่าวคำอวยพร เจ้าบ่าวเจ้าสาวก้มกราบขอบคุณผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการค่ะ
Credit: Freepik
เป็นอย่างไรบ้างคะกับการจัดงานแต่งงานแบบไทยและลำดับพิธีการแต่งงาน ของไทย ไม่ได้ยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ ยิ่งการแต่งงานในสมัยนี้ที่ต้องควบคุมเวลาการจัดงานให้กะทัดรัด คู่บ่าวสาวสามารถตัดขั้นตอนบางอย่างออกไปได้ ตามความสะดวกและความเหมาะสมได้เลยค่ะ มานิตาเชื่อว่าผู้ใหญ่ของทั้งคู่จะต้องรับฟังและเข้าใจ เพราะสุดท้ายแล้วจุดประสงค์ของการจัดงานแต่งงาน ก็คือความสุขของคู่บ่าวสาว นั่นเองค่ะ