ในพิธีการแต่งงานแบบไทยมีรายละเอียดมากมายที่ต้องให้ความใส่ใจและพิถีพิถันไม่แพ้พิธีการแต่งงานแบบอื่นเลยนะคะ โดยเฉพาะในเรื่อง ขันหมาก ที่ทำเอาบ่าวสาวมือใหม่ถึงกับงง ไม่รู้ว่ามีขันหมากกี่พานกันแน่ แล้วต้องเตรียมอะไรบ้างนะ? ใครที่กำลังประสบปัญหาชวนปวดหัวแบบนี้อยู่ล่ะก็ ตามมาทางนี้ได้เลย เรามีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับ ขันหมาก มาฝากกันค่ะ
ขันหมากแต่งงาน
พิธีการแต่งงานแบบไทย ขันหมากที่เจ้าบ่าวต้องเตรียมนั้นจะประกอบไปด้วย ขันหมากเอกและขันหมากโท ซึ่งแต่ละแบบจะมีรายละเอียดต่างกันไป ดังนี้ค่ะ
ขันหมากเอก
พานขันหมากเอก มีความหมายตามชื่อเลยค่ะ คือเป็นพานเอกที่ถือนำขบวน โดยขันหมากเอกจะประกอบไปด้วยรายละเอียดต่อไปนี้
พานต้นกล้วย ต้นอ้อย
เริ่มจากต้นขบวนกันก่อนเลยกับพานต้นกล้วยและพานต้นอ้อยค่ะ โดยใช้เป็นคู่เพื่อความสิริมงคล สมัยก่อนจะนิยมใช้เป็นต้นๆ เลยนะคะ จะได้นำไปปลูกต่อได้เลย เพื่อให้รู้ว่าลูกสาวบ้านนี้แต่งงานออกเรือนไปแล้วนั่นเอง
พานขันหมาก
บรรจุด้วยหมากดิบ 4 ผล และใบพลู 4 เรียง แล้วก็ยังมีถั่วเขียว ข้าวเปลือก ข้าวตอก งาดำ ที่บรรจุแยกเป็นถุงเล็กๆ รวมทั้งขันที่รองใบเงิน ใบทองและใบนากเหมือนกับขันหมากหมั้นค่ะ
พานสินสอด
ในส่วนนี้จะใส่สินสอดเท่าไหร่หรือมีกี่พาน ขึ้นอยู่กับการตกลงกับทางฝ่ายเจ้าสาวและฐานะค่ะ แต่ส่วนใหญ่มักจะแยกเป็นพานเงินสดกับพานเครื่องประดับเป็นคู่ โดยใช้ผ้าลูกไม้คลุมพานเอาไว้ด้วย
พานแหวนหมั้น
เป็นพานที่ใส่แหวนหมั้นของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเอาไว้ค่ะ บางที่จะแบ่งแยกเป็น 2 พาน แต่จะใส่รวมกันเป็นพานเดียวเลยก็ได้เช่นกัน
พานธูปเทียนแพ
สำหรับพานธูปเทียนแพนี้ สมัยก่อนมีไว้เพื่อไหว้ผู้ใหญ่เท่านั้นค่ะ แต่ปัจจุบันจะแบ่งเป็นพานสำหรับไหว้บรรพบุรษกับพานไหว้ผู้ใหญ่ ซึ่งพานไหว้ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ธูปเทียนและดอกไม้อย่างพานไหว้บรรพบุรุษ จะใช้เป็นผ้านุ่งหรือของใช้อื่นๆ แทนก็ได้จ้ะ
ขันหมากโท
พานขันหมากโท หรือเรียกว่าพานขันหมากบริวารก็ได้ เป็นพานที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นส่วนใหญ่ค่ะ ซึ่งพานขันหมากโทจะประกอบไปด้วยรายละเอียดดังนี้
พานไก่ต้มหมูนอนตอง
Credit : cassyvelazquez
อันดับแรกเลยก็คือพานอาหารคาวค่ะ จะเป็นพานไก่ต้มกับพานหมูนอนตอง ซึ่งทั้งสองพานนี้จะนิยมจัดมาเป็นคู่นะคะ
พานผลไม้
นอกจากพานอาหารคาวแล้ว ยังมีพานผลไม้ด้วยนะคะ ซึ่งพานขันหมากโทจะใช้พานผลไม้มงคล 1 คู่ อย่างเช่นพวกมะพร้าว ส้มโอ ทับทิม ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นต้น
พานขนมมงคล
ขนมมงคลที่จะใช้ในพานมี 9 ชนิด ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก ลูกชุบ ขนมกง ขนมชั้น เสน่ห์จันทร์ และจ่ามงกุฎค่ะ ซึ่งจะจัดเป็นคู่เพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ
ขันหมากที่เจ้าสาวต้องเตรียม
เจ้าสาวเองก็ต้องเตรียมขันหมากเหมือนกันนะคะ เป็นพานเชิญขันหมาก 1 พาน เพื่อเชิญขันหมากของฝ่ายชายเข้าผ่านประตูเงิน ประตูทอง ซึ่งในพานจะมีมวนหมากและพลูค่ะ โดยคนที่ถือพานนี้จะเป็นเด็กผู้หญิงที่มาจากฝั่งเจ้าสาวนะจ๊ะ
ธรรมเนียมการแห่ขันหมากนี้ อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานแล้วนะคะ ถึงแม้ปัจจุบันจะได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและความสะดวกของคู่บ่าวสาวมากขึ้น แต่ก็ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เป็นมงคล และมีความอบอุ่น อบอวลไปด้วยความรักไม่เสื่อมคลายค่ะ