พิธีการแต่งงานแบบไทย นอกจากจะมีรายละเอียดที่เต็มไปด้วยความงดงามอันแสนพิเศษแล้ว ยังมีเรื่องของความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนะคะ บางคนอาจจะไม่ทราบ แต่ว่าขั้นตอนที่เกิดขึ้นในพิธี ต่างก็มีความหมายดีๆ แฝงอยู่ เพื่อช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวครองคู่กันอย่างยืนยาวค่ะ แต่จะมี ความเชื่อในพิธีแต่งงานไทย อะไรบ้างนั้น เราก็รวบรวมมาให้เรียบร้อยแล้วค่า
1. ฤกษ์มงคล
อย่างที่รู้กันว่าพิธีการแต่งงานแบบไทยถือเรื่องเคล็ดความเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นแต่งงานกันเลยทีเดียว ตั้งแต่การเจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันแต่งงาน แม้กระทั่งเวลาส่งตัวเจ้าสาวก็ต้องตรวจสอบฤกษ์มงคลก่อน เป็นเคล็ดที่ยึดถือเพื่อความเป็นมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ของคู่บ่าวสาวนั่นเองจ้า
2. เพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาว
เพื่อความเป็นมงคล ไม่ใช่ว่าจะเลือกเพื่อนเจ้าบ่าวหรือเพื่อนเจ้าสาวเป็นใครก็ได้นะคะ มีความเชื่อว่าควรเลือกคนที่มีแพลนว่าจะแต่งงานเร็วๆ นี้ ไม่ควรใช้เป็นคนโสด เพราะอาจจะต้องเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวต่อไป ไม่มีโอกาสได้แต่งงาน แต่เบื้องหลังของความเชื่อนี้เป็นไปได้ว่าต้องการให้ผู้ที่ใกล้แต่งงานรู้ขั้นตอนการทำพิธีต่างๆ เมื่อถึงงานของตัวเองจะได้สามารถจัดการได้อย่างถูกต้องค่ะ
3. ขบวนขันหมาก
เมื่อได้ฤกษ์ยกขันหมาก มีความเชื่อว่าให้เชิญผู้ใหญ่ที่เจ้าบ่าวให้ความเคารพและประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัวมาเป็นคนนำขบวนขันหมากค่ะ เพื่อให้ชีวิตคู่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน อีกอย่างคือเมื่อขบวนขันหมากแห่มาถึงแล้ว พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวไม่ควรเผชิญหน้ากับขบวนแห่ขันหมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าในอนาคตอาจมีเรื่องไม่ถูกกัน
4. จำนวนพระสงฆ์
ตามธรรมเนียมไทย จะต้องมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ เมื่อก่อนจะนิยมนิมนต์เป็นจำนวนคู่ แต่ในปัจจุบันนิยมนิยมต์ 9 รูปด้วยกัน เพราะเชื่อว่าหมายเลขนี้ อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ก้าว” ที่หมายถึงความก้าวหน้าค่ะ
5. การรดน้ำสังข์
ในส่วนของพิธีการรดน้ำสังข์นั้นจะมีความเชื่อว่าหลังจากที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวทำขั้นตอนรดน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายไหนที่ลุกขึ้นยืนก่อน เชื่อว่าฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือคู่ครองของตนค่ะ ซึ่งมีวิธีแก้เคล็ดอยู่ตรงที่คู่บ่าวสาวช่วยกันประคองอีกฝ่ายให้ลุกขึ้นพร้อมกัน จะให้ความหมายว่าประคับประคองชีวิตคู่ไปด้วยกันนั่นเอง
6. มาลัยคล้องคอของบ่าวสาว
มีความเชื่อว่าให้คู่บ่าวสาวใช้มาลัยคล้องคอคู่เดียวกันทั้งในพิธีตอนเช้าและพิธีตอนเย็นด้วย เป็นเคล็ดที่เชื่อว่าจะช่วยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันต่อไปอย่างราบรื่น ไม่มีการเลิกราจ้ะ
7. มงคลแฝดสวมศีรษะบ่าวสาว
พูดถึงมาลัยคล้องคอไปแล้ว ก็ต่อกันที่มงคลแฝดสวมศีรษะบ้าง ซึ่งมงคลนี้มีไว้สวมศีรษะคู่บ่าวสาวตอนทำพิธีรดน้ำสังข์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เชื่อมโยงให้คู่บ่าวสาวเป็นหนึ่งเดียวกันราวกับมงคลแฝดที่สวมศีรษะค่ะ
8. การสวมแหวน
ขั้นตอนการสวมแหวนก็มีความเชื่อแฝงอยู่เหมือนกันนะคะ ถ้าเจ้าบ่าวต้องให้เจ้าสาวช่วยสวมแหวน จะเป็นเพราะทำแหวนหล่นหรือสวมแหวนไม่สุดก็แล้วแต่ เชื่อว่าเจ้าสาวจะมีอำนาจเหนือเจ้าบ่าวค่า
9. พิธีปูที่นอน
พิธีปูที่นอนนี้ มักจะเชิญผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่และน่าเคารพนับถือมาทำการปูที่นอนให้คู่บ่าวสาว โดยเชื่อว่าจะทำให้ครองเรือนกันอย่างมีความสุขเช่นเดียวกับผู้ที่ทำการปูที่นอนให้นั่นเอง
10. อาหารต้องห้าม
อาหารที่แตกหักง่าย อาหารที่มีชื่อเป็นยำ ที่ใกล้เคียงกับคำว่าระยำ เป็นอาหารที่ไม่เป็นมงคล ฟังดูเป็นลางร้าย ไม่ควรนำมาใช้ในพิธีแต่งงานอันเป็นมงคลค่ะ
ความเชื่อในพิธีแต่งงานไทย เหล่านี้อยู่คู่กับพิธีแต่งงานแบบไทยมาอย่างยาวนานเลยนะคะ แม้ว่าปัจจุบันบางความเชื่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยบ้าง แต่ก็เป็นเคล็ดดีๆ ที่ช่วยสร้างกำลังใจให้คู่บ่าวสาวเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างเป็นมงคล สำหรับใครที่สนใจการ์ดแต่งงานและของชำร่วยสวยๆ เป็นสิริมงคล สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมงานมานิตาได้เลยนะคะ